ชื่อเรื่อง | : | รูปแบบการเดินทางของผู้โดยสารทางเรือขนส่งมวลชนในคลองแสนแสบ |
นักวิจัย | : | วราวุฒิ วัจนะรัตน์ |
คำค้น | : | คลองแสนแสบ , เรือโดยสาร -- ไทย -- กรุงเทพฯ , การขนส่งมวลชน |
หน่วยงาน | : | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ผู้ร่วมงาน | : | จารุวรรณ ลิมปเสนีย์ , ประพนธ์ วงศ์วิเชียร , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ |
ปีพิมพ์ | : | 2543 |
อ้างอิง | : | 9741310757 , http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/5879 |
ที่มา | : | - |
ความเชี่ยวชาญ | : | - |
ความสัมพันธ์ | : | - |
ขอบเขตของเนื้อหา | : | - |
บทคัดย่อ/คำอธิบาย | : | วิทยานิพนธ์ (ผ.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543 การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาทางกายภาพของคลองแสนแสบและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง และศึกษาระบบการเดินเรือขนส่งมวลชน รวมถึงศึกษารูปแบบและลักษณะการเดินทางของผู้โดยสารทางเรือขนส่งมวลชนในคลองแสนแสบ เพื่อเสนอแนวทางการวางแผนระบบขนส่งมวลชนทางน้ำในคลองแสนแสบ ขอบเขตการศึกษาเฉพาะบริเวณคลองแสนแสบในช่วงที่ให้บริการเรือโดยสาร โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ และสำรวจภาคสนามด้วยเครื่องมือแบบสอบถาม จำนวน 400 ชุด ในท่าเรือ 16 ท่า จากท่าเรือทั้งหมด 27 ท่า โดยเก็บแบบสอบถามในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น ผลการศึกษาพบว่า เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ที่มีลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินแตกต่างกันหลายประเภท เช่น พาณิชยกรรม สถานศึกษา สถานที่ราชการ ที่พักอาศัย เป็นต้น คลองอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมทางบกหลายเส้นทาง เช่น ถนนพญาไท ถนนเพชรบุรี ถนนรามคำแหง เป็นต้น และท่าเรือก็อยู่ไม่ไกลจากป้ายรถประจำทางซึ่งมีรถประจำทางผ่านหลายเส้นทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางเข้าไปใช้บริการเรือหรือเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางจากทางบกและทางน้ำโดยสะดวก จากการสำรวจพบว่า ผู้โดยสารเรือส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางเพื่อไปทำงาน เพื่อกลับบ้าน และไปสถานศึกษา โดยใช้เรือเดินทางทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ จุดต้นทางและจุดปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตบางกะปิ วัฒนา ปทุมวัน พระนคร และเขตราชเทวี การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทางบกและทางน้ำพบว่าผู้โดยสารเรือส่วนใหญ่ใช้รถประจำทางและการเดินเท้า การเดินทางที่ใช้เรือร่วมในเที่ยวเดินทางจะเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด อยู่ในช่วง 16-26 บาท แต่ถ้าเลือกเดินทางในรูปแบบอื่นจะเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด อยู่ในช่วง 6-20 บาท การเลือกเดินทางโดยเรือจะเดินทางถึงที่หมายได้เร็วกว่าการเดินทางในรูปแบบอื่น อยู่ในช่วง 28-58 นาที เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้โดยสารตัดสินใจเลือกเดินทางโดยเรือ เนื่องจากทำให้ถึงปลายทางเร็วกว่าการเดินทางโดยพาหนะอื่น เหตุผลรองลงมาได้แก่ ท่าเรืออยู่ใกล้จุดปลายทาง ท่าเรืออยู่ใกล้จุดต้นทาง และสามารถเชื่อมต่อพาหนะทางบกได้โดยสะดวก ตามลำดับ ข้อคิดเห็นในการปรับปรุงการบริการส่วนใหญ่เห็นว่าเรือเข้าเทียบท่าและการออกจากท่าเร็วเกินไป รองลงมาได้แก่ การบริการและความสุภาพของพนักงาน ความแข็งแรงของตัวเรือ และเรือแล่นเร็วเกินไป ตามลำดับ ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนทางน้ำในคลองแสนแสบ ได้แก่ การปรับปรุงในด้านพนักงาน ตัวเรือ ท่าเรือ การจัดระบบบริการ ผลกระทบทีมีต่อพื้นที่และผู้ที่อยู่อาศัยริมคลอง และการวางมาตรการควบคุมดูแล การพัฒนาส่งเสริมการเดินเรือโดยสารในคลองแสนแสบ จะต้องคำนึงในด้านความสามารถในการรองรับการจราจรทางน้ำของคลองเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด ปัจจุบันคลองแสนแสบยังมีศักยภาพในการรองรับการเดินเรือที่จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 50 ของการบริการเรือโดยสารทั้งมหด |
บรรณานุกรม | : |
วราวุฒิ วัจนะรัตน์ . (2543). รูปแบบการเดินทางของผู้โดยสารทางเรือขนส่งมวลชนในคลองแสนแสบ.
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วราวุฒิ วัจนะรัตน์ . 2543. "รูปแบบการเดินทางของผู้โดยสารทางเรือขนส่งมวลชนในคลองแสนแสบ".
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วราวุฒิ วัจนะรัตน์ . "รูปแบบการเดินทางของผู้โดยสารทางเรือขนส่งมวลชนในคลองแสนแสบ."
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543. Print. วราวุฒิ วัจนะรัตน์ . รูปแบบการเดินทางของผู้โดยสารทางเรือขนส่งมวลชนในคลองแสนแสบ. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2543.
|