ชื่อเรื่อง | : | การแยกโปรตีนออกจากผงเนื้อในเมล็ดมะขาม โดยใช้เครื่องกรองชนิดหมุนได้ |
นักวิจัย | : | กิติพงษ์ รัตนาภรณ์ |
คำค้น | : | มะขาม , โพลิแซคคาไรด์ , เครื่องกรองและการกรอง , โปรตีน |
หน่วยงาน | : | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ผู้ร่วมงาน | : | จิรกานต์ เมืองนาโพธิ์ , หทัยชนก วานิชศรี , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะวิศวกรรมศาสตร์ |
ปีพิมพ์ | : | 2544 |
อ้างอิง | : | 9740313019 , http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/1144 |
ที่มา | : | - |
ความเชี่ยวชาญ | : | - |
ความสัมพันธ์ | : | - |
ขอบเขตของเนื้อหา | : | - |
บทคัดย่อ/คำอธิบาย | : | วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544 การศึกษาการแยกโปรตีนออกจากผงเนื้อในเมล็ดมะขาม โดยใช้เครื่องกรองชนิดหมุนได้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนแรกศึกษาองค์ประกอบ และขนาดอนุภาคของผงเนื้อในเมล็ดมะขาม พบว่ามีปริมาณพอลิแซคคาไรด์ 63.42-73.57% ปริมาณโปรตีน 15.36-16.54% ปริมาณไขมัน 4.91-5.10% และองค์ประกอบอื่นๆอีก 16.31-4.79 โดยน้ำหนัก มีขนาดของอนุภาคเมื่อกระจายตัวในน้ำประมาณ 22-23 ไมโครเมตร และความหนืดของสารแขวนลอยจะเพิ่มขึ้น ตามความเข้มข้นของสารแขวนลอยที่สูงขึ้น ในขณะที่ความหนาแน่นเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ค่าความหนืดและความหนาแน่นของสารแขวนลอยที่ความเข้มข้น 20 40 และ 60 กรัมต่อลิตร มีค่าเท่ากับ 2.42 6.12 และ 17.706 เซนติพอยส์ และ 1004.82 1011.18 และ 1014.52 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ ส่วนที่ 2 ศึกษาการเลือกชนิดของตัวกรองโดยใช้ชนิดของตัวกรอง 4 ชนิด คือ ผ้ากรองที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ 3 ชนิด และตะแกรงสแตนเลสขนาด 33 ไมโครเมตร กรองสารแขวนลอยผงเนื้อในเมล็ดมะขามความเข้มข้น 10กรัมต่อลิตร ที่ผ่านคลื่นเหนือเสียง 5 นาที ด้วยเครื่องกรองชนิดไหลผ่านตัวกรองโดยกวาดผิวหน้าตัวกรองด้วยใบกวาด และชะเค้กด้วยน้ำบริสุทธิ์จำนวน 4 ครั้ง พบว่า ผ้ากรองชนิดที่ 2 เป็นผ้ากรองที่มีความเหมาะสมที่สุดคือ ค่าร้อยละการกำจัดโปรตีนเท่ากับ 95.07 ค่าร้อยละการสูญเสียพอลิแซคคาไรด์เท่ากับ 56.30 และมีขนาดของรูพรุนประมาณ 12.34 ไมโครเมตร ส่วนที่ 3 ศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการแยกโปรตีนจากผงเนื้อในเมล็ดมะขาม ด้วยเครื่องกรองชนิดหมุนได้ โดยมีขอบเขตของตัวแปรที่ศึกษาคือ ความเข้มข้นของสารแขวนลอยผงเนื้อในเมล็ดมะขาม ความดันคร่อมตัวกรอง ความเร็วรอบในการหมุนตัวกรอง ระยะห่างระหว่างผิวหน้าของตัวกรอง กับผนังด้านในของทรงกระบอกชั้นนอก ที่อัตราการไหลของสายป้อน 38 ลิตรต่อชั่วโมง พบว่า ที่ความเข้มข้นของสารแขวนลอยต่ำ ความเร็วรอบในการหมุนตัวกรอง และความดันคร่อมตัวกรอง มีอิทธิพลต่อการกรองมาก เมื่อความเร็วรอบในการหมุนตัวกรองเพิ่มขึ้น ความดันคร่อมตัวกรองที่เหมาะสมจะมีค่าสูงตามขึ้นไปด้วย ส่งผลให้ค่าฟิลเตรตฟลักซ์ ค่าร้อยละการกำจัดโปรตีน และค่าร้อยละการสูญเสียพอลิแซคคาไรด์มีค่าสูงขึ้น และที่ความเข้มข้นของสารแขวนลอยสูง ความเร็วรอบในการหมุนตัวกรอง จะมีอิทธิพลต่อการกรองเพียงอย่างเดียว ผลของระยะห่างระหว่างผิวหน้าของตัวกรอง กับผนังด้านในของทรงกระบอกชั้นนอก ต่อการกรองสารแขวนลอยผงเนื้อในเมล็ดมะขาม พบว่าที่ระยะห่างเพิ่มขึ้น หรือลดลงกว่า 0.008 เมตร จะทำให้แรงเฉือนที่เกิดจากการหมุนวนของเทย์เลอร์มีค่าลดลง ส่งผลให้ค่าฟิลเตรตฟลักซ์ ค่าร้อยละการกำจัดโปรตีนและค่าร้อยละการสูญเสียพอลิแซคคาไรด์มีค่าลดลง นอกจากนี้การกรองด้วยเครื่องกรองชนิดหมุนได้ สามารถคัดขนาดของอนุภาคที่มีขนาดเล็ก โดยดูจากการกระจายตัวของอนุภาคของสารแขวนลอยผงเนื้อในเมล็ดมะขามเริ่มต้น ในสายป้อน และในสายฟิลเตรต พบว่าที่ภาวะการกรองที่เหมาะสม การกระจายตัวของอนุภาคในสายป้อนจะแยกออกจากการกระจายตัวของอนุภาคเริ่มต้น โดยมีขนาดของอนุภาคเฉลี่ยประมาณ 22-23 ไมโครเมตร ส่วนการกระจายตัวของอนุภาคในสายฟิลเตรตจะมีลักษณะเป็นโค้งแคบ มีขนาดของอนุภาคเฉลี่ย 7-9 ไมโครเมตรภาวะการกรองสารแขวนลอยผงเนื้อในเมล็ดมะขามด้วยเครื่องกรองชนิดหมุนได้ที่เหมาะสม คือ ความเข้มข้นสารแขวนลอย20 กรัมต่อลิตร ความเร็วรอบในการหมุนตัวกรอง 1700 รอบต่อนาที ความดันคร่อมตัวกรอง 0.16 บาร์ และระยะห่างระหว่างผิวหน้าของตัวกรองกับผนังด้านในของทรงกระบอกชั้นนอกเท่ากับ 0.008 เมตร (ค่าเทย์เลอร์นัมเบอร์เท่ากับ 7596 ค่าอัตราการเฉือนเท่ากับ 10704 ต่อวินาที และค่าเรย์โนลด์นัมเบอร์ในแนวแกนเท่ากับ 50) ได้ค่าฟิลเตรตฟลักซ์เท่ากับ 9354 ลิตรต่อตารางเมตรชั่วโมง ค่าร้อยละการกําจัดโปรตีนและค่าร้อยละการสูญเสียพอลิแซคคาไรด์เท่ากับ 74.36 และ 40.31 ตามลําดับ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีปริมาณโปรตีน ปริมาณพอลิแซคคาไรด์ และปริมาณไขมันเท่ากับร้อยละ 9.70 66.41 และ 5.10 โดยน้ําหนัก ตามลําดับ และมีผลได้ของการผลิตผลิตภัณฑ์เท่ากับร้อยละ 29.03 โดยน้ำหนัก |
บรรณานุกรม | : |
กิติพงษ์ รัตนาภรณ์ . (2544). การแยกโปรตีนออกจากผงเนื้อในเมล็ดมะขาม โดยใช้เครื่องกรองชนิดหมุนได้.
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กิติพงษ์ รัตนาภรณ์ . 2544. "การแยกโปรตีนออกจากผงเนื้อในเมล็ดมะขาม โดยใช้เครื่องกรองชนิดหมุนได้".
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กิติพงษ์ รัตนาภรณ์ . "การแยกโปรตีนออกจากผงเนื้อในเมล็ดมะขาม โดยใช้เครื่องกรองชนิดหมุนได้."
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544. Print. กิติพงษ์ รัตนาภรณ์ . การแยกโปรตีนออกจากผงเนื้อในเมล็ดมะขาม โดยใช้เครื่องกรองชนิดหมุนได้. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2544.
|