ชื่อเรื่อง | : | ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในประเทศไทย |
นักวิจัย | : | สุชาติ หล่อโลหการ |
คำค้น | : | สหภาพแรงงาน -- ไทย , แรงงาน -- ไทย -- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ , แรงงานสัมพันธ์ -- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ |
หน่วยงาน | : | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ผู้ร่วมงาน | : | สุดาศิริ เฮงพูลธนา , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย |
ปีพิมพ์ | : | 2527 |
อ้างอิง | : | 9745634581 , http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/19008 |
ที่มา | : | - |
ความเชี่ยวชาญ | : | - |
ความสัมพันธ์ | : | - |
ขอบเขตของเนื้อหา | : | - |
บทคัดย่อ/คำอธิบาย | : | วิทยานิพนธ์ (น.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527 “แรงงาน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ายิ่งที่รัฐจะต้องสงวนรักษาให้ความคุ้มครองดูแลและพัฒนาให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มที่ แต่โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ารัฐมิอาจจะให้ความคุ้มครองดูแลผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างทั่วถึงอันก่อให้เกิดปัญหาทางด้านแรงงานตามมาอยู่เสมอ ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงสนับสนุนหลักการที่จะให้มีการจัดตั้ง “สหภาพแรงงาน” ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ช่วยดูแลแทนรัฐมิให้มีการปฏิบัติอันเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้สหภาพแรงงานเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานในการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์หรือแสวงหาความเป็นธรรมเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่ผู้ใช้แรงงาน สหภาพแรงงานเกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบอาชีพอิสระ และทฤษฎีตลอดจนแนวความคิดเกี่ยวกับระบบแรงงานสัมพันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในการประกอบธุรกิจอาชีพการงานร่วมกันและเพื่อปรับปรุงแก้ไขสภาพการจ้างให้เหมาะสม ทั้งนี้ เพราะโดยธรรมชาติของการทำงานนั้น บุคคลทั้งสองฝ่ายนี้ต่างมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันอยู่เสมอ สหภาพแรงงานซึ่งอยู่ในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์จึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ในสถานประกอบการเพื่อมิให้กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตจนอาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางธุรกิจอุตสาหกรรมตลอดจนความสงบเรียบร้อยของประเทศ แต่เนื่องจากสภาพแรงงานเป็นองค์การซึ่งเป็นที่รวมตัวของบรรดาลูกจ้างจึงทำให้เกิดพลังหรืออำนาจในการเรียกร้องหรือต่อรองกับฝ่ายนายจ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องการดำเนินกิจการตามระบบแรงงานสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติมักปรากฏอยู่เสมอว่ามีสหภาพแรงงานบางแห่งมิได้ดำเนินกิจการให้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือสอดคล้องกับหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี หากแต่ใช้พลังหรืออำนาจดังกล่าวไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควรหรือขัดต่อกฎหมาย เช่น การเรียนร้องในสิ่งซึ่งมิใช่ผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการเรียกร้องโดยมีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองเป็นต้น ยิ่งกว่านั้นผู้บริหารสหภาพแรงงานบางคนยังใช้สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองด้วย เช่น การเรียกร้องต่อรัฐบาลโดยมุ่งหวังตำแหน่งเป็นการตอบแทนสำหรับตนเอง เป็นต้น พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ประชาชนหรือลูกจ้างผู้ใช้แรงงานขาดความศรัทธาและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสหภาพแรงงาน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบดำเนินการแก้ไขก็น่าเชื่อว่าสหภาพแรงงานอาจถูกทำลายโดยลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานด้วยกันนั่นเอง ดังนั้น รัฐซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาจึงจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมดูแลการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานเพื่อให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมายและมิให้เป็นอันตรายต่อประชาชนตลอดจนความมั่นคงของประเทศ แต่การควบคุมดูแลดังกล่าวในบางเรื่องอาจเกิดความยุ่งยากหรือไม่สามารถจะกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาเหตุมาจากความบกพร่องและความไม่สมบูรณ์ของกฎหมายหรือเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง วิทยานิพนธ์นี้ จึงมุ่งศึกษาถึงเรื่องสหภาพแรงงานโดยเน้นเฉพาะเรื่องปัญหากฎหมายเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในประเทศไทยซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและการบริหารสหภาพแรงงาน การแจ้งข้อเรียกร้อง การร่วมเจรจาต่อรองและการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตลอดจนการควบคุมสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อจะได้หาแนวทางหรือมาตรการที่ดีที่เหมาะสมสำหรับปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งผลไปถึงความสงบสุขในอุตสาหกรรมและของประเทศต่อไป |
บรรณานุกรม | : |
สุชาติ หล่อโลหการ . (2527). ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในประเทศไทย.
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สุชาติ หล่อโลหการ . 2527. "ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในประเทศไทย".
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สุชาติ หล่อโลหการ . "ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในประเทศไทย."
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527. Print. สุชาติ หล่อโลหการ . ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2527.
|