ชื่อเรื่อง | : | ระดับซัลฟาเมทอกซีเมลาโทนินในปัสสาวะหลังรับประทานผลไม้ไทย |
นักวิจัย | : | นุจรี ประทีปะวณิช จอห์นส |
คำค้น | : | ซัลฟาเมทอกซีเมลาโทนิน , ปัสสาวะ , ผลไม้ไทย |
หน่วยงาน | : | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย |
ผู้ร่วมงาน | : | - |
ปีพิมพ์ | : | 2555 |
อ้างอิง | : | http://elibrary.trf.or.th/project_content.asp?PJID=RDG5220045 , http://research.trf.or.th/node/4405 |
ที่มา | : | - |
ความเชี่ยวชาญ | : | - |
ความสัมพันธ์ | : | - |
ขอบเขตของเนื้อหา | : | - |
บทคัดย่อ/คำอธิบาย | : | เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนในระบบประสาทที่ส่วนใหญ่หลั่งมาจากต่อมไพเนียล เป็นสารต้านออกซิเดชันที่มีในร่างกายตามธรรมชาติ และควบคุมระบบวัฎจักรประจำวันของร่างกาย การลดลงของระดับเมลาโทนินในเลือดสัมพันธ์กับภาวะโรคเรื้อรังหลายชนิดรวมถึงโรคมะเร็ง มีรายงานพบเมลาโทนินในพืชหลายชนิด โดยเฉพาะพืชสมุนไพร ผัก และผลไม้ แต่ยังไม่พบการศึกษาระดับเมลาโทนินในผลไม้ไทย และระดับเมลาโทนินในร่างกายหลังจากรับประทานผลไม้ การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรก ที่ศึกษาปริมาณเมลาโทนินและฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในมนุษย์หลังจากรับประทานผลไม้ไทย 6 ชนิด วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อวัดระดับเมลาโทนินในผลไม้ไทย 6 ชนิด คือ กล้วย สับปะรด ส้ม มะละกอ หมากเม่า (ผลไม้ประเภทเบอร์รี่) และมะม่วง โดยเลือกจากผลไม้ที่เคยมีรายงานหรือเป็นประเภทเดียวกับที่เคยมีรายงานว่ามีเมลาโทนินสูง หรือมีรายงานระดับกรดอะมิโนทริปโตแฟนที่สูง เนื่องจากทริปโตแฟนเป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์เมลาโทนินในร่างกาย หลังจากสกัดผลไม้ตามวิธีการที่กำหนด ได้วิเคราะห์ปริมาณเมลาโทนินในสารสกัดผลไม้แต่ละชนิดด้วยวิธี HPLC fluorescent detector และทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดผลไม้โดยวิธี DPPH และ FRAP จากนั้น วัดปริมาณเมลาโทนินที่พบในร่างกาย โดยวัดปริมาณ 6-sulfatoxymelatonin (aMT6-s) ในปัสสาวะ ซึ่งเป็นเมตาโบไลท์หลักของเมลาโทนิน และวัดปริมาณ 8-isoprostane ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของภาวะเครียดออกซิเดชันในร่างกาย โดยใช้การศึกษาทางคลินิกแบบ crossover ในอาสาสมัครสุขภาพดี 30 คน (ชาย 15 หญิง 15) และวัดผลในปัสสาวะหลังจากรับประทานผลไม้ที่ศึกษา กำหนดให้อาสาสมัครรับประทานผลไม้ครั้งละ 1 ชนิด จากนั้นเว้นไป 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มผลไม้ชนิดต่อไป จนกระทั่งครบทั้ง 6 ชนิด ผลการศึกษาพบว่าหมากเม่าเป็นผลไม้ที่ในฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงสุด และพบความสามารถในการต้านออกซิเดชันสูงเกือบถึงจุดอิ่มตัว แม้ในความเข้มข้นที่ต่ำ ผลไม้ที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันรองลงมา คือ มะม่วง มะละกอ ส้ม สับปะรด และกล้วย ตามลำดับ จากผลการวิเคราะห์ปริมาณเมลาโทนินพบว่า ส้มมีปริมาณเมลาโทนินสูงสุด (472 ± 80 ng/g) รองลงมาคือ กล้วย (419 ± 71 ng/g) มะม่วง (251 ± 43 ng/g) สัปปะรด (158 ± 27 ng/g) หมากเม่า (79 ± 13 ng/g) และมะละกอ (35 ± 6 ng/g) ตามลำดับ ผลการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี พบว่า ผลไม้บางชนิดเพิ่มระดับ aMT6-s ในปัสสาวะ (เมตาโบไลท์หลักของเมลาโทนิน) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเพิ่มมากที่สุดใน สัปปะรด (127%, p = 0.004) รองลงมา คือ กล้วย (103%, p = 0.001) และ ส้ม (20%, p = 0.007) ส่วนการรับประทานมะละกอ หมากเม่า และมะม่วงในปริมาณที่ศึกษา ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับ aMT6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ยังพบว่าระดับ 8-isoprostane ในปัสสาวะ (ตัวชี้วัดภาวะเครียดออกซิเดชัน) มีแนวโน้มลดต่ำลงหลังจากรับประทานผลไม้ แต่ยังไม่พบนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.07) ผลไม้ไทยมีสารต้านออกซิเดชันตามวิธีวิเคราะห์ด้วย DPPH และ FRAP ในปริมาณสูง และยังพบเมลาโทนินในผลไม้ทั้ง 6 ชนิด ในปริมาณที่สูงกว่าที่เคยมีรายงานมา การศึกษาในคนแสดงให้เห็นว่าการรับประทานผลไม้ที่มีเมลาโทนินสูงสามารถเพิ่มระดับเมตาโบไลท์ของเมลาโทนินได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม ชนิดของผลไม้ที่เพิ่มระดับเมลาโทนินในร่างกายได้สูงนั้น ไม่สัมพันธ์กับชนิดที่มีรายงานฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงในห้องปฏิบัติการ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นแนวโน้มของการลดภาวะเครียดออกซิเดชันหลังจากรับประทานผลไม้ แต่ยังไม่พบนัยสำคัญทางสถิติเนื่องจากจำนวนตัวอย่างยังไม่เพียงพอ การศึกษาต่อไปควรศึกษาในอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น รวมทั้งวัดปริมาณเมลาโทนินในเลือดร่วมด้วย นอกจากนี้ ควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของทริปโตแฟนในผลไม้ ที่อาจเป็นสารตั้งต้นหรือเพิ่มการหลั่งเมลาโทนินในร่างกาย |
บรรณานุกรม | : |
นุจรี ประทีปะวณิช จอห์นส . (2555). ระดับซัลฟาเมทอกซีเมลาโทนินในปัสสาวะหลังรับประทานผลไม้ไทย.
กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. นุจรี ประทีปะวณิช จอห์นส . 2555. "ระดับซัลฟาเมทอกซีเมลาโทนินในปัสสาวะหลังรับประทานผลไม้ไทย".
กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. นุจรี ประทีปะวณิช จอห์นส . "ระดับซัลฟาเมทอกซีเมลาโทนินในปัสสาวะหลังรับประทานผลไม้ไทย."
กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2555. Print. นุจรี ประทีปะวณิช จอห์นส . ระดับซัลฟาเมทอกซีเมลาโทนินในปัสสาวะหลังรับประทานผลไม้ไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย; 2555.
|